โครงการพระดาบส

โครงการพระดาบส



ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริว่า ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธา ขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้ ในการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ได้ทรงรำลึกถึงวิธีการประสิทธิ์ประสาทวิชา ของครูบาอาจารย์ในโบราณกาล เช่น พระดาบส ฯลฯ ว่าในยุคสมัยนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นลูกศิษย์ของพระดาบส จะต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจศรัทธาอย่างแท้จริง เพราะพระดาบสนั้นจำศีลภาวนาอยู่ในป่าดงพงไพรกันดาร ผู้ที่จะไปหาจะต้องขึ้นเขา ลงห้วย บุกป่า ฝ่าดง ด้วยความลำบากแสนเข็ญ เมื่อไปพบพระดาบสจึงเข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ก่อนที่พระดาบสจะรับตัว เข้าเป็นลูกศิษย์ ท่านจะทดสอบความศรัทธาความอดทนอีกหลายประการ จนเป็นที่แน่ใจว่า ผู้ที่มาสมัครเป็นลูกศิษย์นั้นมี ความตั้งใจอยากได้วิชาจริง ท่านจึงรับไว้เป็นลูกศิษย์ ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ตามที่ท่านถนัด โดยไม่คิดค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แต่ลูกศิษย์นั้นจะต้องปรนนิบัติรับใช้ เมื่อศิษย์นั้นมีความรู้เพียงพอ จึงกราบลาพระอาจารย์กลับบ้านกลับเมือง เพื่อนำความรู้ศิลปศาสตร์ที่พระอาจารย์ถ่ายทอด ไปใช้ประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นต่อไป ดังเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของ ไทย เช่น จันทโครพ พระอภัยมณี เป็นต้น พระดาบสดังกล่าวจะมีคุณลักษณะประจำตัว คือ มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มีกุศลศรัทธาที่จะถ่ายทอดศิลปศาสตร์ให้แก่ลูกศิษย์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น บางอาศรมอาจจะมีพระดาบสจำศีลภาวนาอยู่หลายรูป แต่ละรูป อาจมีความรู้ในศิลปศาสตร์แตกต่างกัน บางรูป จำศีลภาวนาอยู่เป็นเอกเทศ ดังนั้น หากนำเอาวิธีการประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาการ ของพระดาบสมาประยุกต์ใช้ โดยจัดเป็นรูปการศึกษานอกระบบแล้ว นอกจากจะช่วยให้ผู้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ได้ความรู้เป็นวิชาชีพแล้ว ยังช่วยให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีศีลธรรมจรรยา มีน้ำใจ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวมได้ผลยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ ป่าธรรมชาติที่เป็นที่พำนักอาศัยของพระดาบสนั้นนับว่าจะน้อยลงไป จึงจำเป็นต้องใช้ป่าสังเคราะห์หรือป่าคอนกรีต เป็นที่ตั้งสำนักพระดาบสแทน แนวกระแสพระราชดำริดังกล่าว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ รับไปดำเนินการทดลองเปิดอบรมวิชาช่างไฟฟ้า-วิทยุขึ้นก่อน โดยใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ บ้านเลขที่ 384/386 ถนนสามเสน ตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี แล้วเปิดรับบุคคลที่มีความตั้งใจจริงที่จะหาความรู้ใส่ตน โดยไม่จำกัดเพศ อายุ และความรู้ รวมทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ผ่านศึก และทุพพลภาพได้เข้าเรียน สำหรับครูหรือพระดาบสอาสาสมัครนั้น จะเป็นผู้มีความรู้ ความศรัทธาอาสาสมัครโดยเสด็จพระราชกุศล และมีคุณลักษณะพิเศษ คือ มีความยินดีเสียสละให้ความรู้ของตนเป็นวิทยาทาน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น การทดลองได้เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 โดยมีผู้เข้าอบรม 9คน ในขั้นแรก ได้กำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไว้1ปี ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม จะสามารถซ่อมเครื่องรับวิทยุธรรมดาได้ แต่เมื่อปฏิบัติจริงแล้ว ปรากฏว่าใช้เวลาเพียง 9 เดือน เท่านั้น ระหว่างการฝึกอบรม นอกจาก วิชาช่างไฟฟ้าวิทยุ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ยังมีการอบรม ศีลธรรมจรรยาและให้เคารพรักครูบาอาจารย์ ชาติ ศาสนา มีความ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความ เข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติพอสมควรแล้ว สำนักงานโครงการฯ ได้เปิดบริการรับซ่อมเครื่องไฟฟ้าวิทยุและรับงานติดตั้ง ไฟฟ้าภายในอาคาร ภายใต้การควบคุมดูแลของพระดาบส อบรม เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งเป็นการหารายได้ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในรูปสหกรณ์ การดำเนินงานตามโครงการนี้ระยะแรกๆ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนประมาณเดือนละ5,000.00บาท เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมตามหลักสูตรแล้วได้ทำการทดสอบวัดผลปรากฏว่า สอบได้7คน นับได้ว่า ได้ผลดีเกิดคาด และเป็นไปตามกระแสพระราชดำริทุกประการ เพราะผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลายคนมาจากครอบครัวที่ยากจน มีพื้นฐานความรู้ต่ำ ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพต่างๆ ได้ บางคนมีปัญหาชีวิตประจำวัน หากปล่อยทิ้งไว้จะเสียคนเป็นปัญหาของ สังคมเช่น ติดยาเสพติด เป็นอาชญากร ฯลฯ อย่างแน่นอน แต่เมื่อเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการนี้แล้วสามารถกลับเนื้อกลับตัวได้ จึงเชื่อว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนได้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ประกอบกับมีศรัทธาที่จะได้รับความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง นับว่ากระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้บังเกิดเป็นความจริงขึ้นแล้ว โครงการนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า โครงการพระดาบส หลังจากเปิดการฝึกอบรมแล้ว1รุ่น และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สำนักงานโครงการฯ จึงได้ทดลองเปิดอบรมหลักสูตรช่างไฟฟ้า วิทยุชั้นกลางขึ้น ซึ่งผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรช่างไฟฟ้าวิทยุในชั้นกลางปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน จึงได้ เปิดการฝึกอบรมรุ่นต่อๆ ไปขึ้น กับได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรช่างเครื่องยนต์ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง ต่อมาสำนักงานโครงการฯ ได้พิจารณา เห็นว่า การเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรช่างไฟฟ้าวิทยุก็ดี ช่างเครื่องยนต์ก็ดี ก่อนที่จะเข้ารับการฝึกอบรมมีความ รู้พื้นฐานทางช่างทั่วไปก่อน จึงได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมช่างขึ้นใช้ระยะเวลา3เดือน หลักสูตรนี้นอกจากจะให้ความ รู้พื้นฐาน ทางช่างแล้วยังเป็นโอกาสที่จะทดสอบความตั้งใจ ความศรัทธา อดทน ของผู้เข้ารับการอบรม และพระดาบสอาสา สมัครที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมในแต่ละสาขาวิชาจะได้มีโอกาสพิจารณาคัดเลือกลูกศิษย์เข้ารับการฝึกอบรม ในหลักสูตรที่คนมีใจรัก และสติปัญญาของตนจะอำนวยให้ ศิษย์คนใดสติปัญญาไม่อำนวย เฉลียวฉลาดไม่เพียงพอที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งในหลักสูตร ที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนมีการคิดคำนวณมาก เช่น ช่างวิทยุ พระดาบสก็จะพิจารณาคัดเลือกให้ไปศึกษาในหลักสูตรที่ ไม่ต้องใช้สมองมาก เช่น ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อม ช่างเคาะ พ่นสี เป็นต้น
การจัดการศึกษานอกระบบ ในลักษณะโครงการตามกระแสพระราชดำรัส จึงนับได้ว่า เป็นโครงการที่นำร่องให้มีการพัฒนาระบบ การศึกษาของประเทศเป็นรูปการศึกษานอก โรงเรียนขึ้น ตั้งแต่นั้นมา โดยที่ลักษณะงานของโครงการนี้คล้ายคลึงกับงานของมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกโครงการพระดาบสไว้เป็นส่วนหนึ่ง ของมูลนิธิดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2521 เป็นการชั่วคราว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2523ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีคณะกรรมการจัดหาทุน โครงการพระดาบสขึ้น โดยมีคุณหญิง วัลลีย์ พงษ์พานิช เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าว ได้ติดต่อประสานงานเชิญชวนและจัดกิจกรรม พิเศษเพื่อจัดหา เงินและสิ่งของ โดยเฉพาะข้าวสาร โดยเสด็จพระราชกุศลตลอดมา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2524ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือกำกับดูแลโครงการพระดาบสอีกทางหนึ่ง โดยที่การฝึกอบรมตามโครงการนี้ จะได้ผลต่อเมื่อ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้าพักอาศัยในสำนักงานโครงการตลอดการฝึก อบรมซึ่งเกิดปัญหาสถานที่พักอาศัยไม่เพียงพอ เมื่อปี พ.ศ.2527 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำนักงานโครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักเพิ่มเติมอีก 1 หลัง โดยใช้เงินของโครงการฯ ในวงเงิน 1.8 ล้านบาทเป็นการแก้ไขปัญหา อาคารหลังนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการออกแบบรายการก่อสร้างสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้ความอนุเคราะห์ดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อปี พ.ศ. 2528 คณะกรรมการจัดหาทุนฯ ได้พิจารณาเห็นว่าโครงการพระดาบส กำลังประสบปัญหาเรื่องอาคารเรียน สมควรจะให้มีอาคารเรียน ถาวร ในการนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท นนท์ตรึงใจสถาปนิก จำกัด และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกรูปแบบรายการและ ประมาณราคากลางไว้ในวงเงิน5ล้านบาท อาคารหลังนี้ คณะกรรมการ จัดหาทุนฯ ได้กำหนดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา60พรรษา คณะกรรมการจัดหาทุนฯ ได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อหารายได้มา สมทบทุนอาคารเรียนนี้อีกหลายครั้ง อาทิ การเดินเพื่อสุขภาพ การจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกจากโรงงาน การจัดแฟชั่นผ้าไหมไทย จัดโบว์ลิ่งการกุศล เป็นต้น จนกระทั่งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ อาคารดังกล่าวเป็นอาคารตึก 3 ชั้น มีห้องเรียน 6 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง ห้องประกอบพิธีตามศาสนา 1 ห้อง ในการก่อสร้างได้รับ ความอนุเคราะห์จากกองทัพบกอนุญาตให้กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ กองทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากอาคารเรียนดังกล่าวแล้ว ยังได้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักแบบ 2 ห้องนอน 1 หลัง สำหรับเป็นที่พักอาศัยของอาจารย์ผู้ ปกครองโรงเรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2532 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนเป็นโรงเรียน ผู้ใหญ่พระดาบสกรมการศึกษานอกโรงเรียนและเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระ บรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิพระดาบสขึ้น ซึ่งได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2533 โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิ ณ ปัจจุบันประกอบด้วย
• หม่อมหลวง จิรายุ นพวงศ์ -------------- ประธานกรรมการ
• พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ ------ กรรมการ
• คุณหญิง วัลลีย์ พงษ์พานิช--------------- กรรมการ
• นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา -------- กรรมการ
• หม่อมหลวง พีระพงศ์ เกษมศรี--------- กรรมการ
• นายแก้วขวัญ วัชโรทัย ------------------- กรรมการ เหรัญญิก
• พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ -------- กรรมการ เลขาธิการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2536 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างอาคารเรียน เพิ่มเติมขึ้นอีก 1 หลังที่บริเวณ โรงช้างเดิม ท่าวาสุกรี อาคารหลังใหม่นี้เป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นบนจัดไว้เป็นที่พักของนักเรียน ชั้นกลางมีห้องเรียน2ห้อง ห้องพักครู1ห้อง และชั้นล่างเป็นห้องปฏิบัติการช่าง อาคารนี้ได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ.2537 และแล้วเสร็จ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2538 (ที่ล่าช้าเพราะผู้รับเหมาก่อสร้างเดิม ละทิ้งงาน จึงต้องหาผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่) ใช้ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 4,560,000 บาท

0 ความคิดเห็น: