พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง

                                      

                                                     พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง

             

         นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย อันเป็นคุณูประโยชน์ยิ่งต่อพสกนิกรไทย รวมถึงด้านการเมืองการปกครอง แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระมหากษัตริย์ไทย ทรงดำรงตนเป็นกลางทางการเมือง และให้ระบบการเมืองของไทยขับเคลื่อนไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย แต่ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ ทรงมิได้เพิกเฉยละเลย พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง อาทิ การลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา หรือแม้ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ก็ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสมอมา   การลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญ            รัฐธรรมนูญนับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารปกครองประเทศ จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการร่าง การพิจารณา การให้ความเห็นชอบ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติม ที่รอบคอบรัดกุม           พระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยทุกพระองค์ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณาและให้ความเห็นชอบจาก รัฐสภา หรือองค์กรด้านนิติบัญญัติแล้ว ก่อนประกาศใช้จึงมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คงไว้ซึ่งคุณค่าของกฎหมายและ เอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังแนวพระราชดำรัสซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในที่ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคราวพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ตอนหนึ่งว่า            “… ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ ๓ ฤกษ์ ฤกษ์ ๑ ตกวันที่ ๑ ธันวาคม ฤกษ์ ๒ ตกวันที่ ๑๐ ธันวาคม ฤกษ์ ๓ ตกไปกลางเดือนมกราคม จึ่งได้คิดว่าสำหรับฤกษ์ ๑ นั้น เวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดไว้เป็นวันที่ ๑๐ ธันวาคม คือฤกษ์ ๒ ส่วนฤกษ์ ๓ นั้น เวลานานไป ฉะนั้นจึ่งอยากรีบเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันในวันที่ ๑๐ ธันวาคม โดยหวังว่า จะแล้วเสร็จจากสภาภายในวันที่ ๓๐ เดือนนี้ โดยเราจะประชุมกัน ตั้งแต่ ๔ โมงเช้าเรื่อยๆ ไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จ เพื่อให้แล้วก่อนฤกษ์ ๑๐ วัน โดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทย…”
           ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการประกาศใช้ อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินนั้น จะไม่มีการจารึกหรือเขียนลงในสมุดไทย แต่ยังคงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เช่นกัน  พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ            พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เป็นธรรมเนียมราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่ครั้งการพระราชพิธีพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งกระทำ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีพระราชทานรัฐ ธรรมนูญ จำนวน ๒ ครั้ง คือ           ๑. พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๙๕ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม           ๒. พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑ เวลา ๑๐.๒๙ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม   พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งนับเป็นพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง           ภายหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้น ได้มีพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี โดยในระยะแรกๆ นอกจากพระราชพิธี ซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสมโภชน์เฉลิมฉลองต่อเนื่องอีกหลายวัน มีทั้งการออกร้าน การแสดง และการละเล่นต่าง ๆ และกำหนดให้จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในขณะนั้น           ต่อมากิจกรรมสมโภชน์ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากระยะเวลาและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป คงไว้เพียงพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์จะเสด็จมาประกอบพระราชพิธีเป็นประจำทุกปี           เมื่อมีพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว ซึ่งประดิษฐานที่หน้าอาคารรัฐสภา ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ หมายกำหนดการ วันที่ ๑๐ ธันวาคม จะประกอบด้วย ๒ กิจกรรม คือ การถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา           รัฐพิธีเปิดประชุมไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาที่เรียกชื่ออื่นที่ทำ หน้าที่ในฐานะรัฐสภา ถือเป็นรัฐพิธีสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรง ประกอบรัฐพิธีด้วยพระองค์เองหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบรัฐพิธีก็ได้           เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติคล้ายกับรัฐสภา แต่ขณะนั้นยังไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุม พระองค์มิได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดประชุม แต่ได้พระราชทานพระราชดำรัสอัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม และเมื่อล่วงเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระองค์ก็ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสไปอ่านเปิดประชุมเช่นกัน           ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุมเป็นครั้งแรก ในมาตรา ๓๐ ว่า            พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุมและทรงเปิดปิดประชุม
            พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯ ใช้รัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
           ฉบับต่อๆ มา ได้มีการบัญญัติคล้ายคลึงกัน แต่ได้เปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวบุคคลที่มากระทำพิธีจากนายกรัฐมนตรี มาเป็น ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำพิธีแทนพระองค์           ในเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมนั้นขึ้นอยู่กับบท บัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ บางฉบับบัญญัติให้กระทำทุกครั้งที่เปิดสมัยประชุมสามัญ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ปี ๒๔๘๙ปี ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕ และบางฉบับจะบัญญัติให้กระทำเฉพาะสมัยแรกของการเลือกตั้งทั่วไป เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๑๗ปี ๒๕๒๑ปี ๒๕๓๔ปี ๒๕๔๐ และ ปี ๒๕๕๐ (ฉบับปัจจุบัน)   การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ดังจะเห็นได้จากคราวที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญๆ ในหลายครั้ง พระองค์ได้ทรง พระกรุณาช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติจากวิกฤตการณ์ทั้งปวงและทุกครั้งทรงนำ ประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขได้โดยเร็ว ซึ่งทุกครั้ง ด้วยเดชะพระบารมีด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยแรงศรัทธาเทิดทูนและด้วยความจงรักภักดี ที่อาณาประชาราษฎร์มีต่อพระองค์ ก็ได้ทรงขจัดปัดเป่ายุติภัยพิบัติและทรงนำบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติโดย เร็ว พสกนิกรของพระองค์ก็ได้กลับคืนสู่ความผาสุกร่มเย็นเช่นเดิมพระเกียรติคุณจึง แผ่ไพศาล เป็นที่แซ่ซ้องสดุดีทั่วไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก  พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมาก เห็นได้จากการที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานคำปรึกษาในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๖.๒๐ น. นอกจากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างทหาร ตำรวจ กับประชาชนและนักศึกษา ที่บริเวณคูน้ำข้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีนักศึกษาและประชาชนบางส่วนว่ายน้ำหนีเข้าไปพึ่งพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เสด็จออกรับ ทรงไต่ถามทุกข์สุขของผู้เข้ามาพึ่งพระบารมี รับสั่งให้สำนักพระราชวังนำข้าวและอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนหนีภัยเข้ามา พึ่งพระบารมีในเขตพระราชฐาน จนกระทั่งเหตุการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงขั้นวิกฤต เมื่อรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร สั่งให้ใช้กำลังทหารและอาวุธเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งกับประชาชนทางโทรทัศน์ เนื่องในวันมหาวิปโยค โดยทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง และทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่กราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่ง หลังจากพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งแล้วสถานการณ์อันยุ่งยากก็ได้คลี่คลายลง เป็นลำดับจวบจน จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ สถานการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ           ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้ทรงทอดทิ้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเดินขบวนเรียกร้อง ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งในการพระราชทานเพลิงศพวีรชนเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ หนึ่งปีหลังจากเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยคแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง  พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙           วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มพลังต่างๆ ได้ รวมตัวกันชุมนุมต่อต้านนักศึกษา และพยายามบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดการยิงต่อสู้กัน ตำรวจได้บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าเคลียร์พื้นที่ โดยมีกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มนวพลเข้าร่วมด้วย บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บ้างก็รออยู่ข้างนอกเพื่อคอยทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมา เหตุการณ์เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนมีนักศึกษาบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จึงทำการยึดอำนาจการปกครองเพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้รวดเร็วขึ้น เพื่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นให้ทรงทราบสถานการณ์ ต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลายลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายต่างๆ จึงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็วยุติการเสียเลือดเสียเนื้อ ทั้งนี้ ก็ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาและความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยอย่างมั่นคง ไม่มีวันเสื่อมคลาย พระมหากรุณาธิคุณได้ปกแผ่คุ้มเศียรเกล้าปวงชนชาวไทย ทรงขจัดปัดเป่าภัยจากวิกฤตการณ์ นำประเทศคืนสู่ความผาสุกสงบร่มเย็นอีกครั้งหนึ่ง   พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ช่วงพฤษภาคม ๒๕๓๕           เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัส ให้พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นเสมือนผู้แทนของฝ่ายต่าง ๆ ช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยหันหน้าเข้าหากันเพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาด้วยความเป็นกลาง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสคำเตือนสติผู้นำทั้ง ๒ ฝ่ายในการแก้ปัญหา ดังนี้            “… ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือความปลอดภัย และขวัญของประชาชนฉะนั้นก็ขอให้ท่าน โดยเฉพาะสองท่าน พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าประเทศของเรา …. เป็นประเทศของทุกคน … อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ … ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่ต้องหันหน้าเข้าหากัน และสองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่าง ๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย คือ ฝ่ายต่าง ๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกัน ปรึกษากัน ว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้กลับมาคืนได้ โดยดี อันนี้เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าจะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากสิ่งปรัก หักพังแล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี….”
           ด้วยเดชะพระบารมี และด้วยพระปรีชาญาณอันล้ำลึก เหตุการณ์รุนแรงภายในบ้านเมือง ซึ่งมีผลกระทบถึงเกียรติภูมิของชาติกระทบกระเทือนภาวะเศรษฐกิจ และความผาสุกร่มเย็นของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ก็ยุติลงบ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะ ปกติได้อีกครั้งหนึ่ง
  

0 ความคิดเห็น: